INTERMISSION โดย อ.วิภัช ธราภาค
โดยที่เหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 6 สัปดาห์เศษ ก็จะถึงวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราส่วนใหญ่ย่อมต้องใช้เวลาเท่าที่ยังพอมีเหลืออยู่ก่อนจะถึงสิ้นปีและความนึกคิดไปในเรื่องการตระเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมควรจะต้องจัดทำเพื่อส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ อาทิเช่น ส่งสารอวยพรให้แก่บรรดาท่านผู้เคยมีพระคุณ ตลอดจนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงทั้งหลาย ซึ่งควรที่จะมิให้เกิดการหายหกตกหล่น ติดต่อไม่ทั่วถึง แล้วทำให้ต้องเสียใจในความบกพร่องของตนเอง ฯลฯ
ถัดไปจากนั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่หลายท่านคงเคยจัดทำกันบ้างแล้ว คือสำรวจตัวเองว่า ตามที่ได้ตั้งปณิธานปีใหม่ไว้เมื่อปีกลายนั้น ผลปรากฏว่าล้มเหลวหรือสำเร็จไปแค่ไหนหรือหาไม่ แล้วควรที่จะตั้งปณิธานปีใหม่เพื่อลองดูอีกครั้งหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นกิจกรรมซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและความคิดไตร่ตรอง ให้รอบคอบทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องการเรียนภาษาซึ่งย่อมถือได้ว่าเป็นเรื่องหนักสมองก็ควรที่จะเพลาลงบ้างสักระยะหนึ่งก่อน ดังนั้น หัวคอลัมน์สัปดาห์นี้จึงขอใช้คำว่า INTERMISSION หรือการหยุดพักสลับฉาก ติดต่อกันไปจนกว่าจะขึ้นสัปดาห์แรกของปี พ.ศ. 2558 แล้วค่อยว่ากันต่อไป
แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าคอลัมน์นี้จะละเว้นไม่เอ่ยถึงเกร็ดต่าง ๆซึ่งเกี่ยวกับสำนวนอเมริกันซึ่งเป็นประเด็นหลักของคอลัมน์ไปเสียเลยก็หาไม่ แม้แต่หัวข้อเรื่องสัปดาห์นี้เองก็ยังเป็นฝรั่งอังกฤษอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทางด้านอเมริกันนั้น เขานิยมใช้คำว่า Break ซึ่งเป็นคำที่สั้น ๆ ง่าย ๆ มากกว่า อย่างที่เรามักจะได้ยินได้ฟังคุ้นหูอยู่กับคำว่า Coffee break, lunch break, summer break, etc. หรือแม้แต่เมื่อเอ่ยถึงฤดูกาลกันแล้ว ชาวมะกันชอบเรียกฤดูใบไม้ร่วงนี้ว่า Fall แทนที่จะใช้คำว่า Autumn ซึ่งน่าจะทำให้เกิดอารมณ์ที่สุนทรียะมากกว่าเป็นไหน ๆ
ขณะที่พวกเราคนไทยซึ่งได้มาอาศัยทำมาหากินหรือใช้ชีวิตที่มักจะพูดกันว่ามีคุณภาพดีกว่าเมื่อมาอยู่ในสหรัฐ ฯ ก็จำเป็นที่จะต้องคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หากแต่ทางบ้านเกิดเมืองนอนหรือประเทศเมืองแม่ของพวกเรายังใช้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษแท้อยู่อย่างเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลงตามโลก ดังจะเห็นได้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษซึ่งมีจำหน่ายในเมืองไทย และมีข้อแตกต่างให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งด้วยการสะกดตัวอักษรในถ้อยคำต่าง ๆ เช่น ทางอังกฤษเขียนว่าlabour, neighbour, traveller, etc. แต่ทางด้านอังกฤษอเมริกันเขาตัดตัวอักษรออกให้สั้นลง กลายเป็นเขียนว่า labor, neighbor, traveler, etc.อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันนี้ การสะกดตัวอักษรแบบมะกันกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วทุกมุมโลกมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะสาเหตุหลายต่อหลายประเด็นด้วยกัน (ยังมีต่อ)
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข